บ้านป่าคา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร สารเคมีในร่างกายเกษตรกรลดลง

เมื่อวันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2561 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุ    กรรมการฯ เชิญถุงพระราชทานพร้อมผ้าห่มกันหนาว จำนวน 250 ถุง จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มอบให้แก่ราษฎร และเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านป่าคา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

ภาพประกอบจาก kppnews

     พร้อมกับติดตามการดำเนินงานเพื่อสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรตลอดจนการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมบูรณ์อย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์กับราษฎรและประเทศชาติ ซึ่งได้สร้างความปลาบปลื้มแก่ราษฎร ผู้ปฏิบัติงานและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของราษฎรในครั้งนี้

      โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านป่าคา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการจัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2552 เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยให้สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ เป็นแหล่งจ้างแรงงาน แหล่งผลิตอาหาร และแหล่งให้ความรู้ด้านการเกษตรที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแก่เกษตรกรที่สนใจ ซึ่งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ ได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานประกอบด้วย ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งดำเนินการตรวจสารพิษตกค้างในโลหิตให้กับเกษตรกร จำนวน 200 ราย และพบว่ามีเกษตรกรที่มีความเสี่ยง จำนวน 56 ราย เกษตรกรที่ปลอดภัย จำนวน 107 ราย และเกษตรกรที่ไม่ปลอดภัย จำนวน 37 ราย

      และพบว่าสารพิษตกค้างในโลหิตเกษตรกร ระดับไม่ปลอดภัยลดลงถึง 3 เท่าจากปี 2559 ชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ปลอดภัยขึ้น นอกจากนี้ยังให้ความรู้ในการวางแผนครอบครัว เพื่อให้มีจำนวนประชากรที่เหมาะสมกับรายได้ รวมถึงการจัดทำเส้นทางคมนาคม จากอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าถึงสถานีฯ ระยะทาง 34 กิโลเมตร

     ด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการจัดฝึกอบรมเยาวชนอาสาพิทักษ์ป่า จัดทำโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ทำกินให้เป็นป่าที่สามารถสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นในระยะยาว โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ผล

     สำหรับแนวทางในการดำเนินการต่อไป จะมีการเผยแพร่ความรู้ให้กับเกษตรกรในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น การทำกล้วยตาก การทำน้ำผลไม้เข้มข้น เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพเสริม และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าแปรรูป

     นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยก่อสร้างสะพานข้ามเส้นทางน้ำ แทนการใช้แผ่นไม้เดิมให้กับราษฎร เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อีกด้วย

ที่มาข่าว: เดลินิวส์

ความคิดเห็น