แมลงช้างปีกใส ช่วยเกษตรกรสู้ศัตรูพืช

นางชีวัน ศิริรัตน์ เกษตรอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยนางสาววีรนุช ครุฑอินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการและนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จากกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตร ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังเมื่อวันก่อน



พร้อมมอบแมลงศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืชให้กับเกษตรกรเพื่อปล่อยในแปลงปลูกมันสำปะหลังสำหรับทำลายแมลงที่ทำลายพืชในแปลงเพาะปลูก ทดแทนการใช้สารเคมีของเกษตรกร ได้แก่ แมลงช้างปีกใส และแตนเบียน จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดพิษณุโลก

มีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร จำนวน 2 แปลง โดยมีนายบันทม อินทร์ขาล ประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านเขาพระตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เป็นผู้รับมอบและร่วมปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติในแปลงของเกษตรกร

สำหรับแมลงช้างปีกใสนั้น นับเป็นแมลงตัวห้ำที่สำคัญสามารถกินศัตรูพืชตามธรรมชาติได้หลายชนิด เช่น ไข่ของแมลงหลายชนิด แมลงหวี่ขาว ไรแดง หนอนตัวเล็กๆ เพลี้ยหอย เพลี้ยอ่อน และเพลี้ยแป้ง ซึ่งสามารถพบได้ในแปลงมันสำปะหลังที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้ง โดยจะอยู่ปนกับเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

แมลงช้างปีกใสในตัวเต็มวัย จะมีสีเขียวอ่อน ปีกยาวโปร่งฉลุคล้ายลูกไม้ ลำตัวสีเขียว ยาวประมาณ 1.0–1.8 เซนติเมตร ปีกยาวคลุมลำตัวเวลาเกาะอยู่กับที่ มีอายุประมาณ 1 เดือน ไข่จะมีก้านชูสีขาว ยาวประมาณ 1.0 เซนติเมตร ไข่จะติดอยู่ที่ปลายก้านมีทรงเป็นวงรี สีเขียวอ่อน เมื่อไข่ใกล้ฟักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ไข่มีอายุประมาณ 3–4 วัน จึงฟักตัวเป็นตัวอ่อน มีรูปร่างคล้ายจระเข้ เมื่อโตเต็มที่จะยาวประมาณ 0.5–0.8 เซนติเมตร เป็นระยะที่สามารถทำลายเหยื่อได้เป็นจำนวนมาก ชอบกินเพลี้ยแป้งเป็นอาหารและจะพรางตัวเข้ากับเหยื่อได้ดี ตัวอ่อนมี 3 วัย

ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใสจะทำลายเหยื่อโดยใช้ปากที่มีลักษณะคล้ายงาช้างเจาะเข้าไปในตัวเหยื่อและดูดกินน้ำเลี้ยงจากตัวเหยื่อมาเป็นอาหารบำรุงร่างกายของตัวเอง บางชนิดเมื่อกินเหยื่อแล้วจะนำซากของเหยื่อมาแบกไว้บนหลัง เพื่ออำพรางตัวเองจากศัตรู บางชนิดจะนำซากเหยื่อมาป้ายไว้ที่ลำตัวเพื่ออำพรางตัวเองจากศัตรูอื่น ๆ เป็นแมลงที่สามารถกินเหยื่อได้เฉลี่ย 60 ตัวต่อ 1 วัน

ในการปล่อยสู่แปลงเพาะปลูก จะปล่อยเมื่อสำรวจพบศัตรูพืชในแปลงปลูกพืช โดยพิจารณาจากการพบเพลี้ยแป้งหากพบ 1-2 จุด ในแปลงปลูก จะปล่อยไข่แมลงช้างปีกใสจำนวน 100 ตัวต่อพื้นที่ 1 ไร่ หากพบเพลี้ยแป้งจำนวน 3 จุดขึ้นไป จะปล่อยไข่แมลงช้างปีกใสจำนวน 200-500 ตัวต่อพื้นที่ 1 ไร่ และสามารถปล่อยได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของแมลงช้างปีกใส และเหมาะปล่อยช่วงเวลาเย็น ประมาณ 16.00 น. เป็นต้นไป โดยปล่อยกระจายให้ทั่วแปลง ทั้งนี้เกษตรกรเจ้าของแปลงปลูกจะต้องงดการใช้สารเคมีกำจัดแมลงทุกชนิดโดยสิ้นเชิงไม่เช่นนั้นแมลงช้างปีกใสก็จะตายไปด้วย

พร้อมตรวจสอบหลังการปล่อยไปแล้ว ประมาณ 7 วัน ว่าปริมาณของแมลงศัตรูพืชลดลงหรือไม่ หากยังพบเห็นก็ปล่อยเพิ่มอีกตามอัตราและจำนวนที่กล่าวมา

ที่มา เดลินิวส์

ความคิดเห็น