ปลาหมอสีคางดำระบาดหนัก กรมประมงรับซื้อ ลั่นใครปล่อย เจอคุก-ปรับ1ล้าน


กรมประมงทุ่มงบ 11.4 ล้านกำจัดปลาหมอสีคางดำที่กำลังระบาดกินกุ้งของเกษตรกรอย่างหนัก หลังชาวบ้านเดือดร้อนหนัก สำรวจพบปลาหมอสีคางดำระบาดกว่า 1,785 ตัน ใน 2 สมุทรสงคราม เพชรบุรี ลั่นใครเอามาปล่อยเจอโทษตามม. 144 ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นายเขมชาติ จิวประสาท ผู้ตรวจราชการ กรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงจัดสรรงบประมาณ 11.4 ล้านบาท เพื่อกำจัดปลาหมอสีออกจากระบบนิเวศและสร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรชาวประมง แก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในระยะเร่งด่วน เพื่อลดปริมาณและตัดวงจรชีวิตปลาหมอสีคางดำในบ่อเลี้ยงของเกษตรกรและในแหล่งน้ำธรรมชาติ หลังเกษตรกรร้องเรียนมายังกรมประมงว่า ปลาหมอสีกินกุ้งของเกษตรกรสร้างความเสียหายอย่างมาก กรมประมงจึงลงสำรวจพบว่า ปลาหมอสีคางดำระบาดหนักกว่า 1,785 ตัน ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดเพชรบุรี

สำหรับงบประมาณในการกำจัดปลาหมอสีคางดำ จะดำเนินการภายใน 2 เดือนระหว่างเดือนก.ค.-ส.ค.2561 ดำเนินการผ่าน 2 มาตรการ คือ 1.กรมประมงรับซื้ปลาหมอสีคางดำระหว่าง 1 ก.ค.-31 ส.ค.2561 ในราคา 20 บาท/กิโลกกรัม(ก.ก.) จากปกติราคา 4.50 บาท/ก.ก. ส่งไปให้หน่วยงานของรัฐเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพหรือการทำลายฝังกลบ และ 2.กิจกรรมสนับสนุนกากชา (ซาโปนิน) ที่เป็นพิษต่อเลือดปลาหมอสีคางดำให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งทะเล เพื่อนำไปใช้กำจัดปลาหมอสีคางดำที่หลงเหลืออยู่ในบ่อหลังจากล้างบ่อจับสัตว์น้ำมีเป้าหมายสนับสนุนกากชาให้เกษตรกร จังหวัดสมุทรสงครามจำนวน 14,500 กิโลกรัม และจังหวัดเพชรบุรี จำนวน 2,390 กิโลกรัม รวมทั้งสิ้น 16,890 กิโลกรัม


การลงพื้นที่ประเมินความชุกชุมของปลาหมอสีคางดำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดเพชรบุรีพบว่า จังหวัดสมุทรสงครามมีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจำนวน 501 ฟาร์ม บนพื้นที่ 53,957 ไร่พบปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงเฉลี่ย 1,629 ตัน จังหวัดเพชรบุรีมีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจำนวน 66 ฟาร์ม รวมพื้นที่ 4,000 ไร่ พบปริมาณปลาหมอสีคางดำในบ่อเลี้ยงเฉลี่ย 156 ตัน รวมพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 567 ฟาร์ม คิดเป็นพื้นที่การเลี้ยงทั้งหมดจำนวน 57,957 ไร่

ส่วนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำและต้องการขอรับการสนับสนุนกากชา หลักเกณฑ์เบื้องต้นจะต้องเป็นเกษตรกรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนฟาร์มกับกรมประมง โดยสามารถแจ้งความจำนงล่วงหน้าเพื่อขอรับการสนับสนุนกากชา และนัดหมายวันเวลารับซื้อได้พร้อมกันในพื้นที่กรณีเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนฟาร์มสามารถติดต่อยื่นเรื่องได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม เบอร์โทร 034-71-1258และสำนักงานประมงจังหวัดเพชรบุรี เบอร์โทร 032-426-032

สำหรับบทลงโทษตามมาตรา 144 หากพบผู้ใดกระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา ข่าวสด

ความคิดเห็น