ปลูกผักในที่ร่มให้งาม ทำได้

สำหรับผู้ที่มีพื้นที่น้อย หรือพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวน ที่ปลูกต้นไม้ใหญ่แบบให้ผล แต่สนใจจะปลูกผักทั้งเพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือจำหน่าย ก็สามารถทำได้ โดยการนำพื้นที่บริเวณโคนต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่เป็นแปลงปลูก



การปลูกผักตามโคนต้นไม้ขั้นต้นต้องพรวนดินบริเวณดังกล่าว ด้วยการค่อย ๆ พรวนเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนกับรากฝอยของต้นไม้ใหญ่ ปรับสภาพดินโดยใส่อินทรียวัตถุผสมกับดินปลูกเติมลงไปในบริเวณดังกล่าว เช่น ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยหมัก รดน้ำให้ชุ่มนำฟางข้าวมาคลุมทับเพื่อรักษาความชื้นก่อนปลูก และสามารถปลูกผักได้แทบทุกชนิด

นำปุ๋ยหมักแห้งเพื่อปรับโครงสร้างของหน้าดินให้สมบูรณ์ โดยการนำเปลือกผลไม้ เศษผัก ใบหญ้า ใบไม้ มูลสัตว์ รำข้าว และน้ำอีเอ็ม หมักเข้าด้วยกัน เมื่อได้ที่ก็นำมาทำเป็นปุ๋ยผสมกับดินปลูก และอัดเม็ดเก็บไว้ใช้โรยรอบแปลงปลูกหลังจากนำผักลงปลูกในแปลงปลูกแล้ว

เมื่อเตรียมดินเสร็จแล้วรดน้ำฮอร์โมนเร่งพืชเติบ โตให้ทั่วแปลง โดยใช้อีเอ็ม และกากน้ำตาลมอลล์หมัก ซึ่งทุกคนสามารถทำเองได้ ด้วยการนำส่วนผสมของ 3 อย่างมาหมักด้วยกัน ประกอบด้วย มะละกอสุก ฟักทองสุก และกล้วยน้ำว้าสุก โดยนำเอามาแต่เนื้อ คลุกเคล้าให้เข้ากันหมักไว้ระยะหนึ่ง จากนั้นตักเอาน้ำที่หมักผสมน้ำมาฉีดพ่น และเก็บไว้ฉีดพ่นเป็นระยะ ๆ ในช่วงที่ปลูกพืชลงดินแล้ว เพื่อเป็นการเร่งการเจริญเติบโตให้เสริมสร้างให้ใบและก้านใบของผักแข็งแรงเจริญเติบโตต้านโรคแมลงได้ดี

หากต้องการให้ผักออกใบงามตามที่ต้องการก็เติมสูตรฮอร์โมนเร่งใบลงไป ด้วยการนำหญ้าแพรก ใบกระถิน ใบก้ามปู ผสมลงไปในช่วงหมัก

ที่สำคัญการปลูกผักแบบนี้จะต้องเลือกปลูกผักเพียงชนิดเดียวในบริเวณโคนต้นหนึ่งต้น และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วควรปลูกผักชนิดอื่น ไม่ควรปลูกผักชนิดเดียวกันซ้ำ ๆ ในที่เดียว เพราะจะทำให้ได้ผลผลิตในรุ่นต่อมาไม่ดีเท่าที่ต้องการ

หากมีต้นไม้หลายต้นในบริเวณเดียวกันก็ควรปลูกผักแบบสลับชนิดเช่น โคนต้นหนึ่งปลูกคะน้า อีกต้นหนึ่งควรปลูกผักบุ้ง เป็นต้น และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วต้นที่ปลูกคะน้าก็เปลี่ยนมาปลูกผักบุ้ง พื้นที่ปลูกผักบุ้งก็เปลี่ยนเป็นคะน้า การปลูกด้วยระบบเช่นนี้จะทำให้สามารถปลูกผักได้อย่างต่อเนื่องและผักก็เจริญเติบโตดีสมบูรณ์ตามที่ต้องการ และควรปลูกผักตามฤดูกาล เช่นหน้าฝนปลูกพืชที่ทนฝน เช่น มะเขือ หน้าหนาว ปลูกผักคะน้า บรอกโคลี่ ผักบุ้ง ผักสลัด หน้าแล้งควรพักดินเพื่อล่อให้แมลงฟักไข่ออกมาแต่ไม่มีอาหารกินก็จะตายไปตามธรรมชาติ เป็นการตัดวงจรแมลงตามธรรมชาติ ไม่ต้องอาศัยสารเคมี

การนำพื้นที่บริเวณใต้โคนต้นไม้ใหญ่มาปลูกพืชผักนอกจากจะทำให้มีพืชผักได้บริโภคภายในครัวเรือนแล้ว ดินและปุ๋ยที่ใส่ลงไปเพื่อให้เป็นอาหารของพืชผักนั้นก็จะเป็นอาหารชั้นดีให้กับต้นไม้ใหญ่อีกทางหนึ่งด้วย นับเป็นการดำเนินการเพียงครั้งเดียวได้ประโยชน์หลายด้านนั่นเอง

ข่าวจาก: เดลินิวส์

ความคิดเห็น