อากาศเปลี่ยน แมลงวันพริกจะมา

นางสาวประพันธ์ ชนะวรรณโณ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช และ นางสาวจันทิมา เอี่ยมสะอาด นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัด เพชรบุรี ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงเกษตร ของเกษตรกร


เพื่อให้คำแนะ นำในการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชในแปลงพริก ของนายสุมล ทวีกาญ เกษตรกรบ้านโป่งงูเหลือม ตำบลหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เบื้องต้นพบอาการเป็นโรคแอนแทรกโนสพริก และไวรัสพริก ส่วนแมลงวันเจาะผลไม้พริกนี้พบว่ามีเนื้อที่เกิดโรคค่อนข้างมาก แซมด้วยเพลี้ยอ่อนที่เข้าทำลายแปลงปลูกพริกของเกษตรกรรายนี้ ซึ่งคาดการณ์กันว่าน่าจะประสบกับความเสียหายค่อนข้างมากพอควร

ที่สำคัญในช่วงนี้แปลงปลูกพริกส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะติดผล จนถึงระยะเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสําหรับการเข้าทําลายของหนอนแมลงวันพริก

ซึ่งแมลงวันพริก จัดเป็นแมลงวันผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตการเกษตรโดยเฉพาะพืชในตระกูลพริกและมะเขือ ตัวเต็มวัยเพศเมียมีอวัยวะวางไข่ที่แหลมและแข็งแรง สามารถแทงผิวของเนื้อเยื่อพืชได้ลึกถึง 0.5-1.0 มิลลิเมตรเพื่อวางไข่ที่มีลักษณะรูปร่างยาวรี สีขาวขุ่น ผิวเป็นมันสะท้อนแสง เมื่อใกล้ฟักสีของไข่จะเข้มขึ้น ระยะไข่ 2-3 วัน ก็จะฟักเป็นตัวหนอนมีลักษณะหัวแหลมท้ายป้าน มีสีขาว หรือสีใกล้เคียงกับสีของพืชอาหาร

ตัวหนอนจะเคลื่อนที่โดยการยืดหดลําตัวเป็นปล้อง ๆ ส่วนหัวมีปากเป็นตะขอแข็งสีดําหนึ่งคู่ ซึ่งเป็นอวัยวะที่หนอนใช้ชอนไชกินเนื้อเยื่อภายในผลพริกทําให้ผลพริกเน่าและร่วง นอกจากนี้ตัวหนอนยังมีความสามารถพิเศษในการงอตัวและดีดกระเด็นไปได้ไกลซึ่งช่วยให้หนอนหาที่เหมาะสมเพื่อเข้าดักแด้ในดิน

ระยะหนอนมี 3 ระยะ ตั้งแต่ 8-10 วัน ดักแด้มีรูปร่างกลมรีคล้ายถังเบียร์ ไม่เคลื่อน ไหว ระยะแรกจะมีสีขาวและค่อยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล สีจะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ระยะดักแด้อยู่ที่ประมาณ 11-14 วัน จะออกเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งมีปีกบางใสสะท้อนแสงและมีแถบสีเหลืองที่ส่วนอก จึงเรียกว่า “แมลงวันทอง” ในระยะตัวเต็มวัยมีอายุเฉลี่ย 77-183 วัน โดยตลอดวงชีวิตจากไข่ถึงตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 23-25 วัน

นอกจากนี้รอยแผลที่เกิดขึ้นจากการวางไข่ของแมลงยังส่งผลให้เชื้อจุลินทรีย์ สาเหตุโรคพืชเข้าทําลายตามทําให้ผลเน่าและร่วงหล่นก่อนระยะเก็บเกี่ยว แมลงวันพริกมีเขตแพร่กระจายทั่วประเทศไทย พบเข้าทําลายพริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือกรอบ มะเขือพวง มะแว้งต้น และมะแว้งเครือ

ศัตรูโดยธรรมชาติของแมลงวันพริกก็คือมดคันไฟแตน เบียนหนอน และ แตนเบียนไข่ ส่วนการป้องกันและกําจัดนั้นเกษตรกรสามารถ ทำได้ด้วยตนเอง โดยขั้นต้นหมั่นทําความสะอาดแปลงปลูก โดยการเก็บผลพริกที่ร่วงหล่นไปทําลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวันพริก หรือทําลายพืชอาศัยที่อยู่รอบ ๆ แปลงปลูกพริก

และการใช้สารชีวภัณฑ์มาช่วยในการป้องกันและกําจัด ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ทั้งสภาพพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกฤดูต่อไป ตลอดถึงด้านสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ด้วยการนำเชื้อราบิวเวอเรีย และเชื้อราเมตาไรเซี่ยมมาใช้

ขอบคุณที่มา: เดลินิวส์

ความคิดเห็น