โรคเหี่ยวระบาด ในแปลงสับปะรดที่ภูเก็ต

นายปารเมศ ทองปรีชา เกษตรจังหวัดภูเก็ต มอบหมายให้ นางปณภัช กระจ่างศรี หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนัก งานเกษตรจังหวัดภูเก็ต ติดตามสำรวจสถานการณ์สับปะรดแปลงใหญ่ ในพื้นที่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันก่อน พบว่ามีการระบาดของโรคเหี่ยวในสับปะรดภูเก็ตทุกแปลงที่ปลูก อย่างน้อย 10- 100% ของพื้นที่ปลูก ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งติดมากับต้นพันธุ์ และแพร่กระจายเชื้อโรคโดยเพลี้ยแป้งและมด ทำให้สับปะรดมีอาการใบสีแดง ปลายใบแห้งเหี่ยว ผลหลุดร่วง เกษตรกรสูญเสียผลผลิต



ในเบื้องต้นได้ชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางในการควบคุมและลดการระบาดของโรคเหี่ยว พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่เกษตรกร ในด้านการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวัสดุปูนและปุ๋ยอินทรีย์ คัดเลือกต้นพันธุ์จากแหล่งที่ปลอดโรค การกำจัดเพลี้ยแป้งและมด และขุดต้นที่มีโรคเหี่ยวออกทำลาย

พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรเพื่อร่วมหาทางแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้การจัดการศัตรูพืชมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

โรคเหี่ยวสับปะรด สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส โดยมีแมลงพวกเพลี้ยแป้งเป็นพาหะถ่ายทอดโรค สับปะรดที่เป็นโรคจะเริ่มแสดงอาการของโรคตั้งแต่อายุประมาณ 6 เดือนหลังการปลูก จนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต อาการเริ่มต้นของโรค จะพบอาการปลายใบไหม้แห้งเล็กน้อย หรือไม่แห้งแต่จะพบอาการที่เหมือนกันคือ พื้นใบจะมีสีม่วงแดง ลามเข้ามาจากปลายใบ เข้าสู่เนื้อใบ ขอบใบจะลู่ลงหรือม้วนเข้าหาด้านใต้ใบเล็กน้อย (ใบสลด) ใบของต้นที่แสดงอาการโรคจะดูแตกต่างจากต้นปกติที่อยู่ข้างเคียงอย่างชัดเจน และอาการของโรคจะแตกต่างจากอาการโรคยอดเน่าของสับปะรดที่เกิดจากเชื้อราไฟทอฟทอร่า ที่มักแสดงอาการใบเหลืองทั้งกอและดึงใบหลุดออกจากกอได้ง่าย ในระยะต่อมา จะพบว่าใบมีลักษณะแห้งคล้ายอาการขาดน้ำ ใบแผ่แบนไม่งองุ้มเหมือนใบสับปะรดปกติ ขอบใบม้วนลงเพิ่มมากขึ้น และขอบใบเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ขณะที่เนื้อใบมีสีม่วงแดงตลอดทั้งใบ ใบแสดงอาการสลดหรืออ่อนตัวอย่างชัดเจน ในระยะสุดท้าย คือ ใบแห้งเหี่ยวทั้งกอ และระบบรากของต้นที่แสดงอาการของโรครากจะมีขนาดสั้น แตกแขนงน้อย ระบบรากฝอยน้อย และรากส่วนใหญ่เน่าแห้งตาย ทำให้สามารถถอนต้นสับปะรดขึ้นจากดินได้ง่ายแตกต่างจากต้นปกติอย่างชัดเจน โดยทั่วไปจะสังเกตพบโรคเหี่ยวในสับปะรดที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ปลูกด้วยหน่อ ซึ่งพบอาการได้เร็ว แต่ถ้าปลูกด้วยจุกจะพบอาการของโรค เมื่อสับปะรดมีอายุประมาณ 1 ปีหลังปลูก หรือพบระบาดมากขึ้นในสับปะรดที่ผ่านการบังคับให้ต้นสับปะรดออกดอกด้วยสารเคมี ถ้าอาการของโรคเกิดในช่วงระยะเริ่มติดผล มักจะทำให้ผลเล็ก แคระแกร็น มีขนาดต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม หรือไม่ให้ผลผลิตเลย การแพร่กระจายของต้นสับปะรดที่เป็นโรค มักแพร่กระจายเป็น กลุ่มเล็ก ๆ ในระยะแรกแล้วค่อย ๆ ลุกลามระบาดออกเป็นวงกว้างขึ้นแนวทางการควบคุมโรคเหี่ยว แนวทางป้องกันการเกิดโรคนี้ หลังเก็บเกี่ยวเกษตรกรควรทำความสะอาดแปลงปลูก โดยไถกลบเศษซากสับปะรดให้หมดโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าปล่อยทิ้งไว้ ติดตามดูหน่อพันธุ์ที่แสดงอาการโรคแล้วเก็บทำลายทันทีและต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง กำจัดวัชพืชและพืชแปลกปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสับปะรดที่งอกจากตอเดิม เพราะอาจเป็นแหล่งอาศัยของพาหะและเชื้อโรค ควรทำอย่างสม่ำเสมอตลอดฤดูปลูก เพิ่มความระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายคนงาน เครื่องมืออุปกรณ์จากแปลงเป็นโรคไปสู่แปลงที่ปลอดโรค ไม่ใช้หรือขายหน่อพันธุ์ จากแปลงเป็นโรคให้แก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ถึงแม้หน่อพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์จะไม่แสดงอาการของโรคให้เห็น เนื่องจากเป็นการช่วยเร่งให้โรค แพร่ระบาดออกไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และอาจก่อให้เกิดความเสียหายในระดับเศรษฐกิจได้

ที่มา: เดลินิวส์

ความคิดเห็น