รั้วรังผึ้ง ป้องกันช้างป่า

ณ สวนผลไม้รอบบ้าน ซึ่งปลูกทุเรียน ลำไย ลองกอง และกระวาน ของนายชาตรี แซ่ลี้ เกษตรกรบ้านนากระชาย ต.ทรายขาว อ.สอยดาวจ.จันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับป่าที่มีช้างป่าอาศัยอยู่ และมักจะลงมาหากินบริเวณชายขอบป่า และมักทำลายพืชผลที่เกษตรกรปลูกมาโดยตลอด

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต


กลุ่มเยาวชนบ้านนากระชาย ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาคณะสังคม สาขานิติศาสตร์ ม.ราชภัฏรำไพพรรณีจังหวัดจันทบุรี พร้อมแกนนำ จิตอาสาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนบ้านนากระชาย นายอนุชา อินทศร นายอำเภอสอยดาว และนายชยุทกฤดิ นนทแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี ได้ร่วมจัดทำรั้วต้นแบบ คน ช้าง และป่า อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งเป็นการจัดสร้างรั้วที่อาศัยผึ้งเป็นกันชนและป้องกันช้างป่าเข้าทำลายพืชผลเกษตรตลอดถึงทรัพย์สินของเกษตรกร โดยการสนับสนุนของ นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง

ทั้งนี้เป็นที่แน่ชัดจากผลการศึกษาวิจัยทั้งต่างประเทศและในประเทศ ในการนำผึ้งเลี้ยงมาจัดสร้างเป็นแนวกันชนระหว่างพื้นที่ทำกินของคนกับช้างป่าว่าสามารถดำเนินการโดยสามารถ ป้องกันพื้นที่ได้มากถึง 92 เปอร์เซ็นต์

กล่องผึ้งแต่ละกล่องเมื่อทำเป็นแนวรั้วจะห่างกันประมาณ 7 เมตร สามารถจัดวางเป็นแนวรั้วได้ระยะทางประมาณ 350 เมตร ต้นทุนเริ่มต้นประกอบด้วยค่าพันธุ์ผึ้งชุดละประมาณ 4,500 บาท 1 ชุด ประกอบด้วยกล่องผึ้ง 5-8 คอน และอุปกรณ์ทำรั้ว

หลักการของรั้วรังผึ้งป้องกันช้างป่า คือการนำกล่องผึ้งเลี้ยงมาแขวนในระดับสายตาของช้างป่าและมีแนวเชือกเป็นรั้วเชื่อมต่อกันระหว่างกล่องผึ้ง ระยะห่างประมาณ 6 เมตร เอาเชือกมาโยงผูกกัน ในระยะที่สูงพอ ๆ กับตัวช้าง เมื่อช้างจะเข้ามากินพืชไร่ที่มีรั้วรังผึ้งที่แขวนอยู่ ช้างจะเอางวงดึงเชือก เชือกก็จะไปโยกรังผึ้งที่แขวนอยู่ ผึ้งก็แตกออกมารุมตาบ้าง ปลายงวง หรือจุดอ่อนต่าง ๆ ของช้าง ตามธรรมชาติ
ซึ่งพิษผึ้งจะไม่มากพอที่จะทำอันตรายช้างได้ แต่ช้างจะเกิดความรำคาญ และเดินหนีไปยังพื้นที่อื่น ที่สำคัญต้องเลือกผึ้งสายพันธุ์ที่รักรัง ไม่ทิ้งรังง่าย แข็งแรง ให้น้ำผึ้งดี จะไล่ช้างได้ผล ผึ้งมีรัศมีในการดูแลรังของตัวเอง ในหนึ่งลังจะมีรังผึ้งเป็นสิบรัง
พื้นที่และความเหมาะสมในการใช้รั้วรังผึ้ง คือสภาพพื้นที่ควรค่อนข้างโล่งมีแสงแดดส่องถึงรั้วรังผึ้ง เนื่องจากแสงแดดและอุณหภูมิมีผลต่อการตื่นตัวของผึ้ง ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพของแนวรั้วรังผึ้งและมีทุ่งหญ้าเล็กน้อยเพื่อเป็นที่หลบภัยของผึ้ง ตําแหน่งและทิศทางแนวรั้วจะต้องวางขวางเส้นทางหากินของช้าง ด่านช้าง โดยมีขนาดและความยาวที่เหมาะสมครอบคลุมพื้นที่การเกษตรที่ต้องการป้องกันช้างป่า
ควรมีแหล่งน้ำและมีพืชอาหารของผึ้งเช่น ดอกสาบเสือ ดอกฟักทอง ดอกบัว ดอกข้าวโพด อยู่ในรัศมีการเคลื่อนที่หากินของผึ้งประมาณ 3 กิโลเมตร และควรห่างไกลจากพื้นที่ที่ใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงเนื่องจากผึ้งไม่ทนต่อพืชอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีและยาฆ่าแมลง ระหว่างแนวรั้วรังผึ้งกับพื้นที่การเกษตรขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่แต่ไม่ควรให้มีระยะห่างเกิน 10 เมตร

นอกจากนี้ รังผึ้งประมาณ 40–50 รัง เกษตรกรสามารถเก็บน้ำผึ้งได้ประมาณ 300 กิโลกรัมต่อปี ราคาขายกิโลกรัมละ 150-500 บาท ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและชนิดของดอกไม้ที่ให้น้ำผึ้ง ซึ่งเป็นการได้ประโยชน์ถึงสองทางในการดำเนินการเช่นนี้ คือ สามารถป้องกันช้างเข้ามาทำลายแปลง เพาะปลูกได้ แถมมีรายได้จากรั้วผึ้งที่จัดสร้างขึ้นมาอีกด้วย

ที่มา: เดลินิวส์

ความคิดเห็น