ด้วงงวงมันเทศ ป้องกันได้ด้วยพืชสมุนไพร

นางวิไลวรรณ ทวิชศรี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ พร้อมด้วยนางสาวพิจิศิลป์ สระแก้ว เจ้าหน้าที่การเกษตร ได้รับมอบจากผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุทัยธานี ร่วมกับ ดร.วิลาวัลย์ ใคร่ครวญ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านพืชสวน หัวหน้าโครงการการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของการใช้เทคโนโลยีกำจัดด้วงงวงมันเทศแบบผสมผสาน และ นางสาวศรัณญา ชุ่มชื่น นักจัดการงานทั่วไป ลงพื้นที่เข้าเยี่ยมเกษตรกรปลูกมันเทศ ในพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านหนองผักบุ้ง และ หมู่ที่ 11 บ้านประชาสุขสรรค์ ต.ทุ่งนางาม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เพื่อมอบหนังสือและปัจจัยการผลิตเกี่ยวกับการใช้สารชุบยอดมันเทศก่อนปลูก เพื่อป้องกันด้วงงวงมันเทศ



เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีการปลูกมันเทศจำนวนมาก และมักเจอกับปัญหาเรื่องด้วงมันเทศเข้าทำลายแปลงเพาะปลูกเป็นประจำ ยังผลให้ผลผลิตที่เกษตรกรจะได้รับไม่เต็มที่ บางปีก็ระบาดหนักก่อความเสียหายในวงกว้าง

สำหรับด้วงงวงมันเทศจัดเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของมันเทศ โดยตัวเต็มวัยจะทำลายทุกส่วนของพืช ในขณะที่ตัวหนอนจะทำลายหัวและเถา หัวมันเทศที่ถูกทำลายจะมีลักษณะเป็นทางคดเคี้ยว มีสีเขียวและสีดำ ซึ่งแม้ถูกทำลายเล็กน้อยก็จะไม่สามารถนำมารับประทานได้

เนื่องจากจะมีกลิ่นเหม็นและรสขม ทางภาคใต้เรียกว่าเป็นร้า หากระบาดรุนแรงก็จะเน่ามีกลิ่นเหม็น ช่วงแรก ๆ จะพบเข้าทำลายบริเวณต้นและเถาก่อน เมื่อมันเริ่มย่างเข้า 1½ เดือนหลังการปลูก ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มลงหัว ด้วงชนิดนี้ก็จะเริ่มเข้าทำลาย บางพื้นที่ก็จะพบเข้าทำลายช่วงมันเทศ 2-2½ เดือน

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งปลูกและความรุนแรงของการระบาดด้วย ส่วนการแพร่กระจายออกทำลายเป็นกลุ่ม ๆ นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเวลา 20.00-21.00 น. ซึ่งจะเป็นเพศผู้มากกว่าเพศเมีย ส่วนช่วงเช้าเวลาประมาณ 08.00-09.00 น. และกลางวันเวลา 12.00-13.00 น. จะไม่ค่อยพบตัวเต็มวัยออกบิน แต่จะพบมากขึ้นเมื่อต้นมันเทศมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงใกล้จะเก็บเกี่ยวผลผลิต

ด้วงชนิดนี้เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก ลำตัวส่วนปีกมีสีน้ำเงินเข้มเป็นมันบริเวณอกและขามีสีอิฐแดง ส่วนหัวยื่นยาวออกมาเป็นงวงและโค้งลงปีกคู่แรกแข็งกว่าลำตัว ลำตัวยาวประมาณ 5.0-6.5 มม. กว้าง 1 มม. ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ในหัวและเถามันเทศ บริเวณรอยเจาะใต้ผิวเปลือกถ้าเป็นเถามันเทศแมลงจะวางไข่ใกล้ตาและก้านใบ

ขณะที่เป็นตัวหนอนจะมี 3 ระยะ โดยหนอนวัยที่ 1 มักพบทำลายบริเวณผิวมันเทศลึกประมาณ 0.5 ซม. หนอนวัยที่ 2 ทำลายลึกกว่าหนอนวัยที่ 1 และหนอนวัยที่ 3 จะทำลายลึกกว่าหนอนวัยที่ 1 และ 2 หัวมันเทศที่ถูกทำลายและเสียหายมักเกิดจากหนอนวัยที่ 3

หนอนจะเข้าดักแด้บริเวณหัวและเถามันเทศ ดักแด้ระยะแรกมีสีขาว ต่อมาตา ปีกและขาจะเปลี่ยนเป็นสีดำลำตัวมีสีค่อนข้างเหลือง ส่วนท้องมองเห็นไม่ชัดและเคลื่อนไหวได้ ขนาดดักแด้เฉลี่ย 5 มม. ระยะดักแด้ 5-6 วันมักพบดักแด้ภายในบริเวณหัวและเถามันเทศที่ถูกทำลายตัวเต็มวัย ด้วงงวงมันเทศที่ออกจากดักแด้ใหม่ ๆ จะอาศัยอยู่ภายในหัวและเถามันเทศประมาณ 1-2 วัน หลังจากนั้นจึงออกมาภายนอกพบว่าในสภาพที่มีอาหารตัวเต็มวัยสามารถมีอายุได้นานถึง 40-53 วัน เพศผู้มีอายุยาวนานกว่าเพศเมีย

การป้องกันและกำจัดเบื้องต้น เจ้าหน้าที่แนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงการปลูกมันเทศในแหล่งที่มีการระบาดของด้วงงวงมันเทศ ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิม ควรปลูกหมุนเวียนโดยเลือกพืชต่างตระกูลกับมันเทศ เลือกใช้เถามันเทศที่สมบูรณ์แข็งแรงปราศจากด้วงงวงมันเทศ และไม่นำเถามันเทศจากแหล่งที่มีการระบาดของด้วงงวงมันเทศมาเป็นกล้าพันธุ์

กำจัดวัชพืชหรือพืชพี่เลี้ยงที่เป็นตระกูลเดียวกับมันเทศบริเวณรอบ ๆ แปลงปลูกออกทำลายให้หมด ไถพรวนตากดิน เก็บเศษท่อนมันที่เหลือไปทำลาย ทำลายตัวอ่อน ใช้เมล็ดสะเดาบด หรือสมุนไพรที่มีผงขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน ประมาณ 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ชุ่มทุก ๆ 3-4 วัน ในเวลาเย็น ๆ ช่วงแดดร่มและฉีดพ่นบนดินให้ชุ่ม

เนื่องจากด้วงกลุ่มนี้มักจะซ่อนตัวแอบวางไข่ตามข้อ ตา ซอกใบ หัวในดิน หรือแม้กระทั่งร่องดินที่แตกระแหง การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยตัดวงจรการระบาดของด้วงงวงมันเทศลงได้ 80-90%

ที่มา: เดลินิวส์

ความคิดเห็น