หมั่นดูโรครานํ้าค้าง ในแปลงแตงโม

นายชาญณรงค์ วิรุณสาร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาราชการแทน เกษตรอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี มอบหมายให้นางสาวนิตยา ช่วงรัตน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ พร้อมด้วยนายอิสมาแอลลุตปี เจะและ อาสาสมัครเกษตรและสหกรณ์ ตำบลแม่ลาน เยี่ยมเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกแตงโม หมู่ที่ 8 ตำบลแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เมื่อวันก่อน



โดยเกษตรกร 10 คน ได้รวมตัวกันใช้พื้นที่ 13 ไร่ ปลูกแตงโมระหว่างรอการเจริญเติบโตของยางพารา พบว่าแตงโมของเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในระยะให้ผล 80% และบางส่วนก็อยู่ในระยะเก็บเกี่ยว 20% ของพื้นที่ปลูก

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าในแปลงปลูกบางส่วนเริ่มมีโรคราน้ำค้าง (Downy mildew) ระบาดในพื้นที่เนื่องจากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีความชื้นสูงมีหมอกลงในตอนเช้า ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเข้าทำลายของเชื้อรา จึงทำให้มีการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วทำให้ใบของแตงโมมีอาการแห้งและทำให้ต้นตาย

ซึ่งจะมีผลกระทบต่อคุณภาพผลผลิตทำให้ความหวานของแตงโมลดลง เจ้าหน้าที่จึงแนะนำให้เกษตรกรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของแตงโมที่บริเวณใบแก่ และโคนเถาว่ามีแผลสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลอ่อนเกิดขึ้นในเถาแตงหรือไม่ หากมีจะทำให้ใบแห้งและเหี่ยว เมื่อโรคระบาดรุนแรงจะทำให้เถาแตงเหี่ยวตายหมดทั้งเถา

โดยเฉพาะในช่วงมีอากาศชื้นเมื่อพลิกดูด้านท้องใบจะมีขุยของราสีขาวหม่นคล้ายผงแป้ง โรคนี้จะระบาดรุนแรงและรวดเร็วเมื่อแตงอยู่ในระยะกำลังให้ผล ทำให้เถาแตงตายไปก่อนที่จะเก็บเกี่ยว ส่วนการแพร่กระจายของเชื้อนั้นจะปลิวไปตามลม แต่บางครั้งระบาดได้โดยติดไปกับแมลงบางชนิด เช่น ด้วงเต่าแตง เป็นต้น

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้แนะ นำการป้องกันและกำจัดให้กับเกษตรกร โดยเน้นควบคุมโรคโดยชีววิธี ด้วยการใช้เชื้อรา ไตรโคเดอร์ม่าอัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเชื้อแบคที เรีย บีเอส (บาซิลลัส ซับทิลิส) อัตราการใช้ตามฉลาก เมื่อเริ่มพบอาการของโรคให้ฉีดพ่นบริเวณที่เกิดอาการของโรคในช่วงเวลายามเย็นที่แดดอ่อน และเก็บใบหรือส่วนของพืชที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายบริเวณนอกแปลงปลูก ที่สำคัญก่อนการปลูกแตงโมหรือพืชตระกูลแตงในครั้งต่อไปให้เกษตรกรคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าหรือเชื้อแบคทีเรียบีเอส (บาซิลลัส ซับทิลิส) หรือแช่เมล็ดในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 20–30 นาที พร้อมบำรุงรักษาต้นให้สมบูรณ์ จะช่วยให้พืชไม่อ่อนแอต่อโรคได้

สำหรับโรคราน้ำค้างเกิดจากการเข้าทำ ลายของเชื้อรา Pseudoperonospora cubensis สามารถเข้าทำลายได้เฉพาะในพืชวงศ์แตงอาการจะเกิดเป็นปื้นเหลืองบนใบ ด้านหลังของใบอาจ มองเห็นกลุ่มของเส้นใยหรือมองไม่เห็นด้วยตา จากนั้นปื้นสีเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล โดยเริ่มเปลี่ยนจากกลางแผลออกไป โรคนี้มักจะเกิดขึ้นในเขตอบอุ่นและเขตร้อนชื้นที่มีปริมาณน้ำฝนและน้ำค้างพอเพียงกับระยะเวลาที่จะก่อให้เกิดการระบาดของโรคขึ้นได้ สภาพอากาศเหมาะต่อการเจริญของเชื้อคือ อุณหภูมิ 16-22 องศาเซลเซียส และความชื้นสูง จะทำให้มีการระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว

ทำให้ใบของแตงแห้งและทำให้ต้นตาย ถ้าหากควบคุมโรคได้ไม่ดี จะก่อให้เกิดความ เสียหายรุนแรงทั้งในสภาพการปลูกในแปลงเปิด ในโรงเรือน และในสภาพการปลูกแบบอื่น ๆ

ที่มา: เดลินิวส์

ความคิดเห็น