พบโรคตายพรายในกล้วย

นายวิชัย แก้วสุข เกษตรอำเภอเทพา มอบหมายให้นายมะฮ์ดี โต๊ะเด็น และนายปิยะกร สุวรรณมณี นักวิชาการปฏิบัติการ และนายอับดุลเลาะ หวังยี อาสาสมัครเกษตร ต.ลำไพล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา


ลงพื้นที่ หมู่ที่ 2 บ้านลำไพลตก ตำบลลำไพล จังหวัดสงขลา ตรวจสอบแปลงกล้วยน้ำว้า และแปลงกล้วยหิน ของนายบัวลำ ลิอินทร์ ที่มีอาการใบเหี่ยวเหลือง จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบอาการใบเหี่ยวเหลือง ท่อลำเลียงสีคล้ำน้ำตาล จากภายนอกสู่แกนลำต้น

ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดจากโรคตายพราย และพบการเข้าทำลายของด้วงงวงกล้วยกระจายอยู่ทั่วแปลงปลูก ทั้งนี้ได้แนะนำการจัดการดูแลเบื้องต้น และการป้องกันการ แพร่กระจายของเชื้อโรคให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือในการตัดแต่งหรือโค่นต้นกล้วย ให้ทำการฆ่าเชื้อโรคทุกครั้งหลังจากใช้งาน และก่อนนำไปใช้กับต้นกล้วยที่ปลอดโรค

สำหรับโรคตายพรายนั้นมักจะแพร่ระบาดกับกล้วยที่ปลูกในพื้นที่ที่เป็นดินเหนียว มีการระบายน้ำไม่ดี เชื้อราสามารถเกิดสปอร์เป็นจำนวนมากบนผิวหนังของเหง้าที่เป็นโรค และอาจแพร่ระบาดติดกับหน่อพันธุ์ที่นำไปปลูก หรือถูกน้ำชะพัดพาเข้าสู่แปลงปลูกก็เป็นได้ ลักษณะอาการของโรคหากเชื้อราจะเข้าทำลายราก แล้วเจริญเข้าไปอยู่ในท่อน้ำท่ออาหารของเหง้าและโคนลำต้น จะทำให้ท่อน้ำท่ออาหารเกิดอุดตัน และเน่าเป็นสีน้ำตาล ตัดกับเนื้อเยื่อสีขาวอย่างเห็นได้ชัดเจน ของเหลวจากเซลล์ที่เน่าจะไหลเข้าไปอุดตันท่อน้ำท่ออาหาร เมื่อโรคมีความรุนแรงจะทำให้ท่อน้ำท่ออาหารเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มและแดงม่วง ซึ่งเป็นผลให้การส่งผ่านน้ำและแร่ธาตุอาหารไม่สามารถเป็นไปตามปกติได้ เพราะท่อน้ำท่ออาหารเสื่อมสภาพ ใบจึงเกิดขาดน้ำมีลักษณะอาการเหี่ยวเฉาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผืนใบอาจเหี่ยวย่น และหักพับลงมาขนานแนบลำต้น

ส่วนใบยอดนั้นยังเห็นสีขาวและเจริญตั้งตรงอยู่บนยอด กาบของลำต้นเทียมจะประกบอยู่อย่างหลวม ๆ แล้วแยกออกและห้อยลงมา การเจริญเติบโตจะชะงักงัน ไม่ผลิดอกออกผล ในขณะเดียวกันก็อาจมีหน่อกล้วยงอกเจริญออกมาสดใสเหมือนปกติอยู่ระยะหนึ่ง และจะชะงักการเจริญเติบโต มีลักษณะอาการเหี่ยวเฉาตามมา เมื่อตรวจดูตามขวางจะพบกาบที่อยู่ภายนอกมีเนื้อเยื่อสีเหลือง แต่กาบถัดเข้าไปจะเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแดง การป้องกันและกำจัดขั้นต้นเกษตรกรจะต้องทำความสะอาดโคนกอกล้วยอย่าให้รกและทำทางระบายน้ำให้ดี ส่วนต้นที่เป็นโรคเมื่อตัดโค่นทำลายให้เอาออกไปห่างจากแปลงปลูก และไม่ควรทิ้งลงแหล่งน้ำ เพราะจะทำให้เชื้อโรคขยายพื้นที่ในวงกว้างได้

ก่อนปลูกจัดการพื้นที่ปลูกให้สะอาดปราศจากวัชพืช เลือกหน่อกล้วยชนิดที่ปราศจากเชื้อโรคโดยพิจารณาแหล่งท่อนพันธ์ุที่เชื่อถือได้ มีส่วนงานราชการรับรอง เมื่อขุดต้นที่เป็นโรคทิ้งแล้ว ควรใส่ปูนขาว 1-2 กิโลกรัมต่อ 1 หลุมปลูก และหากเป็นไปได้ ไม่ควรปลูกกล้วยในพื้นที่เดิม ๆ แบบซ้ำ ๆ ใช้พืชชนิดอื่นมาปลูกแทนหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตกล้วยแล้ว เพื่อเป็นการตัดวงจรของเชื้อโรค สำหรับพื้นที่ปลูกที่มีเชื้อโรคระบาดค่อนข้างรุนแรง

หากจำเป็นต้องใช้พื้นที่เดิม หลังเตรียมแปลงควรปล่อยน้ำเข้าไปให้ท่วมขังระยะหนึ่งแล้วปล่อยน้ำออกเตรียมดินตากแดดประมาณ 2 อาทิตย์ ก่อนขุดหลุมปลูกใหม่ครั้งต่อไป จะพอช่วยให้ลดการระบาดของเชื้อโรคลงได้

ที่มา: เดลินิวส์

ความคิดเห็น