พบด้วงงวงบุกเจาะลำต้นกล้วยที่ จ.กำแพงเพชร


นายสถิตย์ ภูทิพย์ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ได้มอบหมายให้ นายจิรประวัติณ์ ไทยประสิทธิ์ และนางสาวสาวรีย์ จันทร์คำ เจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การเข้าทำลายของแมลงศัตรูกล้วย ณ หมู่ที่ 4 บ้านปางตาไว ตำบลปางตาไว อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร

โดยมี นายนิวัติ บุษบงศ์ รักษาการ เกษตรอำเภอปางศิลาทอง เข้าร่วมติดตามสถานการณ์ด้วย จากการสำรวจ พบว่า เป็นการเข้าทำลายต้นกล้วยของด้วงงวงเจาะลำต้นกล้วย โดยพบตัวหนอนเจาะชอนไชกัดกินทำลายระบบส่งน้ำและอาหารของต้นกล้วย

โดยตัวเต็มวัยจะวางไข่บริเวณกาบกล้วยส่วนลำต้นเหนือพื้นดินขึ้นไปถึงบริเวณกลางต้น หนอนจะเจาะกัดกินเข้าไปทีละน้อยจนถึงไส้กลางต้น จะเห็นรอบต้นมีรูพรุนทั่วไป ยังผลทำให้ต้นกล้วยเน่าและตาย

ด้วงงวงเป็นแมลงที่มีส่วนหัวยื่นยาวออกมาเป็นงวงยาวและมักจะโค้งลงปากมีการพัฒนาที่ดีโดยมีปากยื่น เพื่อใช้กัดกินเนื้อไม้ หนวดปกติมีลักษณะเป็นแบบข้อศอกและแบบลูกตุ้ม แมลงในวงศ์นี้จะกินส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ราก ใบ ผล หรือเมล็ด

ในช่วงอากาศเริ่มจะมีฝนตกและอากาศร้อนชื้น ด้วงงวง 2 ชนิด คือ ด้วงงวงเจาะเหง้ากล้วย และด้วงงวงเจาะต้นกล้วย มักเข้าทำลายต้นกล้วย และจะสามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นกล้วย โดยตัวหนอนเจาะชอนไชกัดกินทำลายระบบส่งน้ำและอาหารของเหง้ากล้วยที่อยู่ในระดับพื้นดินโคนต้นไปเลี้ยงลำต้นขาดตอนชะงักไป ในช่วงแรก ๆ จะไม่สามารถมองเห็นร่องรอยการทำลายของหนอนได้ชัด

หากมีหนอน 5 ตัวต่อ 1 เหง้ากล้วยจะสามารถทำให้ต้นกล้วยตายได้ กรณีที่มีแมลงติดมากับหน่อกล้วยปลูกใหม่ หน่อใหม่จะตายก่อนจะให้เครือ

ด้วงงวงเจาะต้นกล้วย ตัวเต็มวัยจะวางไข่บริเวณกาบกล้วยส่วนลำต้นเหนือพื้นดินขึ้นไปถึงกลางต้น หนอนจะเจาะกัดกินเข้าไปทีละน้อยจนถึงไส้กลางต้น จะเห็นรอบต้นมีรูพรุนทั่วไป ทำให้ต้นกล้วยตาย หากเข้าทำลายในระยะใกล้ออกปลีถึงตกเครือ เครือจะหักพับกลางต้นหรือเหี่ยวเฉายืนต้นตาย การป้องกันควรหมั่นรักษาความสะอาดและกำจัดเศษวัสดุต้นกล้วยในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ สำหรับต้นกล้วยที่ตัดเครือแล้ว ให้นำมาตัดเป็นชิ้นเล็กวางกระจายหงายรอยตัดขึ้นให้แห้งเร็ว เพื่อไม่ให้เป็นที่หลบอาศัย และแหล่งอาหารของตัวเต็มวัย การปลูกควรเลือกหน่อที่ปราศจากแมลง

กรณีขุดหน่อกล้วยหรือตัดต้นแล้ว ให้นำออกจากแปลงปลูกในทันที และใช้ดินกลบหลุมที่ขุดทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการทิ้งไว้ข้ามคืนคาหลุมหรือในแปลง เพื่อป้องกันตัวเต็มวัยเข้ามาวางไข่ในต้นหรือเหง้าเดิมตรงรอบแผล อีกแนวทางในการป้องกันคือการทำกับดัก เพื่อลดความความเสียหาย โดยใช้ต้นที่ตัดเครือแล้วมาหั่นเป็นท่อนยาวประมาณ 30 เซนติเมตรผ่าครึ่งตามยาว แล้วนำไปวางแบบคว่ำรอยผ่าให้ลงดินบริเวณใกล้โคนต้นกล้วย วางต่อกันที่ระยะห่าง 10 เมตร เพื่อล่อตัวเต็มวัยให้เข้ามาวางไข่

จากนั้นต้องหมั่นจับตัวเต็มวัยในกับดักไปทำลาย และเปลี่ยนท่อนกับดักบ่อย ๆ เพราะท่อนกล้วยเก่าจะเหี่ยวและมีประสิทธิภาพลดลง

ที่มา: เดลินิวส์

ความคิดเห็น