พลิกวิกฤติ ปลานิลน็อกนํ้าตาย

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครศรีธรรมราชได้เปิดเผยถึงแนวทางการรับมือของเกษตรกรต่อสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงช่วงปลายหนาวเข้าสู่แล้งของเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะผู้เพาะเลี้ยงปลานิลในบ่อ



โดยยกตัวอย่างกรณีของนางสุภานี เกิดลำเจียก เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลแบบกึ่งพาณิชย์ ที่ ตำบลท้องลำเจียก อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าเป็นรายหนึ่งที่อยู่กับอาชีพเลี้ยงปลานิลมากว่า 10 ปี โดยใช้พื้นที่บ่อดินขนาด 4 ไร่ ปล่อยปลานิล 10,000-12,000 ตัว ระยะเวลาเลี้ยง 5-6 เดือน

บางปีเกษตรกรรายนี้เลี้ยงปลานิลจนได้ขนาด 2-3 ตัวต่อกิโลกรัมแล้ว แต่ด้วยสภาพอากาศ ไม่ดีฝนตก บางช่วงฟ้าปิด น้ำท่วม น้ำหลาก ทำให้พบปัญหาปลาน็อกปลาตาย และตายตั้งแต่หลักร้อยตัว บางรอบการเลี้ยงตายมากถึง 4,000 ตัว ซึ่งหากทิ้งหรือขายเป็นปลาเพื่อแปรรูปทำกะปิปลา ก็จะได้ราคาถูก เหลือเพียงกิโลกรัมละ 2-5 บาท ทำให้ไม่คุ้มทั้งเวลาและต้นทุน

เกษตรกรรายนี้จึงแก้ปัญหาด้วยการ นำปลาที่น็อกตาย มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดย ผลิตเป็น ปลานิลแดดเดียว ส่งขายได้กิโลกรัมละ 100 บาท และทำปลานิลร้า ขายได้กิโลกรัมละ 140 บาท ส่วนเศษหัวปลาและไส้ปลาและปลาตายที่แปรรูปไม่ได้จะนำไปทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้ปรับปรุงบำรุงดินในสวนและนาข้าวกว่า 70 ไร่ เพื่อลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ย ยา และสารเคมี

นับเป็นการพลิกวิกฤติกลับมาเป็นโอกาสได้ สามารถแปรรูปปลาที่น็อกตายขายได้ทุนกลับมากว่า 7,000 บาท ต่อรุ่น และปลาที่เหลือ เลี้ยงต่อจนจับขายเป็นปลานิลมีชีวิต(ปลาอ๊อก) รวมต้นทุนและรายได้จากการขายปลาแปรรูปแล้ว ก็ยังเหลือกำไร เพื่อลงทุนเลี้ยงปลาต่อไปในรอบหน้าอีกนับหมื่นบาท

สำหรับสูตรปลานิลร้า รสเด็ด ของเกษตรกรรายนี้จะมีรสชาติเค็มและหวาน พร้อมหอมกลิ่นร้า โดยขั้นตอนในการทำจะเริ่มด้วยการตัดหัวปลาออก ไม่ต้องผ่าท้อง เอาไส้ออก เอาผนังท้องสีดำด้านในออก จนหมด ล้างให้สะอาด นำเกลือเม็ดมาใส่ลงในท้องปลาจนเต็ม นำไปตากแดด 2-3 แดด ทุกวัน เก็บปลาช่วงหมดแดดในตอนเย็น แล้วเอาเกลือเดิมในท้องออก ใส่เกลือใหม่เข้าไป ตอนเช้าจึงนำไปตากแดดใหม่จนครบ 3 แดด

เมื่อตากจนครบ 2-3 แดด ปลาจะหอมและแห้งลง จึงนำเกลือออกอีกครั้ง แล้วอาบด้วยน้ำตาลทรายแบบไม่ขัดสี ด้วยการนำปลามาเรียงใส่กล่องแล้วโรยน้ำตาลบนตัวปลาทีละชั้น ๆ จนเต็มกล่อง หมักไว้ 5 วัน วันที่ 4-5 กลับพลิกปลาในกล่องอีกรอบ แล้วนำปลาจากชั้นบนเอาลงไปเรียงใหม่ให้อยู่ชั้นล่างเพื่อให้รสชาติเท่ากันทั้งกล่อง จากนั้น จึงนำมาตากอีก 2-3 แดด จึงนำออกจำหน่าย

หากมีปลาปริมาณมากสามารถเก็บในกล่องที่อาบน้ำตาลได้นาน เมื่อมีลูกค้าสั่งมา ก็จะนำปลาไปตากแดดอีกครั้งก่อนส่งจำหน่าย

นับเป็นอีกหนึ่งทางออกสำหรับการรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจนทำให้ปลาที่เลี้ยงในบ่อต้องตายไปก่อนโตเพียงพอที่จับจำหน่ายได้ ของเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลานิล

ที่มา: เดลินิวส์

ความคิดเห็น