เพาะเห็ด จากขี้เลื่อยไม้ยางพารา

เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ได้ให้การต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันก่อน

โดยได้นำคณะเข้าศึกษา เรียนรู้ศาสตร์พระราชาของศูนย์ฯ อาทิ เกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ดินเปรี้ยว การสาธิตการเพาะเห็ดจากขี้เลื่อยไม้ยางพารา รวมทั้งเยี่ยมชมกิจกรรมในการน้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการภายในศูนย์ฯ อีกหลายกิจกรรม



สำหรับการเพาะเห็ดโดยการใช้ก้อนเชื้อเห็ดจากขี้เลื่อยไม้ยางพารานั้น นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการทำกิน ด้วยในพื้นที่ภาคใต้ไม้ยางพารามีจำนวนมาก และมีการตัดโค่นเพื่อปลูกใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณของไม้ยางพาราเหล่านั้นสามารถนำมาทำก้อนเชื้อเห็ดได้ และไม่ต้องผ่านการหมักเหมือนการใช้ฟางข้าว

แต่ต้องเป็นขี้เลื่อยที่ไม่ใช่มาจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ เพราะอาจจะมีการเจือปนสารเคมีได้ ตรวจสอบได้ด้วยการเอามือล้วงเข้าไปในกองขี้เลื่อย ถ้าขี้เลื่อยนั้นร้อนเหมือนมีการหมัก ถือว่าใช้ไม่ได้ แต่ถ้าไม่ร้อน หรืออุ่นแดด สามารถใช้งานได้

พื้นที่เก็บขี้เลื่อยต้องไม่มีน้ำขัง ขี้เลื่อยต้องไม่มีเชื้อราหรือมีเห็ดชนิดอื่นขึ้นอยู่ ไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรง เพราะจะแห้งสูญเสียความชื้นที่เหมาะสมไป ให้ความชื้นในกองขี้เลื่อยเพื่อให้เกิดการหมักขี้เลื่อยไปในตัว ทำให้เกิดสารอาหารบางชนิดที่เห็ดสามารถนำไปเป็นอาหารได้ ร่อนขี้เลื่อยก่อนใส่ถุงพลาสติก แล้วหมัก 1 คืน เพื่อให้ดูดซึมความชื้นเข้าไป

ใช้ส่วนผสมประกอบด้วย ขี้เลื่อยไม้ยางพารา รำละเอียด แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย ดีเกลือ และปูนขาว โดยให้ควบคุมความชื้นอยู่ที่ 60-70% เพื่อให้ได้ความชื้นที่เหมาะสมกับการเพาะเชื้อเห็ด ขั้นตอนการทำนำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากัน บรรจุใส่ถุงพลาสติกที่ใช้เพาะเห็ด ขนาด 8 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม อัดก้อนเชื้อให้แน่น ใส่คอขวดพลาสติก อุดด้วยสำลีและปิดด้วยฝาขวด รัดยางให้แน่น นำไปนึ่งฆ่าเชื้อโดยใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง นำออกมาแล้วทิ้งไว้ให้เย็น

นำหัวเชื้อเห็ดที่เลี้ยงไว้ในเมล็ดข้าวฟ่าง ประมาณ 10-20 เมล็ดเขี่ยลงในก้อนเชื้อที่เย็นดีแล้ว ปิดปากถุงด้วยสำลีและกระดาษทันที นำก้อนเชื้อที่ถ่ายหัวเชื้อเห็ดลงเรียบร้อยแล้วไปบ่มไว้ในโรงบ่มก้อนเชื้อต่อไปโดยวางในแนวตั้งไม่ให้ถุงทับซ้อนกัน เพื่อให้อากาศมีการถ่ายเทได้สะดวก

การบ่มเส้นใยที่ดีที่สุดคือที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ห้องหรือโรงเรือนที่ตั้งอยู่ใต้ร่มเงาไม้สำหรับบ่มเส้นใยอย่างง่าย เช่น ทำจากหญ้าคา จากฟาง ไม้ไผ่ และมีการให้น้ำภายนอกโรงเรือน หรือบริเวณพื้นโรงเรือนเป็นครั้งคราวเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ระยะบ่มเส้นใย เห็ดต้องการความชื้นในบรรยากาศในระดับปกติ คือ ประมาณ 50% ไม่ต้องให้น้ำที่ถุงเห็ด ถ้ามีความจำเป็นต้องให้น้ำโรงเรือนต้องระวังมิให้น้ำถูกสำลีที่จุกปากถุง เพราะจะเป็นทางทำให้เกิดเชื้อโรคไปทำลายเชื้อเห็ดได้ ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมต่อการสร้างดอกเห็ดและการเจริญของดอกเห็ด อยู่ระหว่าง 80-90% และ 60-70% ตามลำดับ การผ่านลมเย็นในขณะดอกเห็ดเจริญ จะทำให้หมวกเห็ดแตก คล้ายกับดอกเห็ดหอมที่นำเข้าจากต่างประเทศ

เปิดปากถุงให้ออกดอกทางด้านบนหรือเปลือยก้อนเชื้อโดยแกะถุงพลาสติกออกทั้งหมดให้ก้อนเชื้อสัมผัสอากาศเป็นการกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ด ถ้าต้องการเห็ดดอกใหญ่ก็เปิดให้มีการเกิดดอกเป็นบางส่วน การเปลือยก้อนเชื้อจะได้ดอกเห็ดจำนวนมากแต่ดอกจะเล็ก และอาจจะมีการปนเปื้อนจากเชื้อโรคหรือถูกกระทบจากสภาพแวดล้อมได้ง่าย

ที่มา : เดลินิวส์

ความคิดเห็น