เมื่อโรคเหี่ยวระบาดในกล้วย


นายสมโชค ณ นคร เกษตรจังหวัดยะลา ได้มอบหมายให้กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตร จังหวัดยะลา โดยนายเอกราช วิบูลย์พันธุ์ และนายฤทธิรงค์ ศรีสุข นักวิชาการปฏิบัติการ ร่วมกับนายธานนท์ ดำประเสร็ฐ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ลงพื้นที่สำรวจและติดตามการระบาดของโรคเหี่ยวในพื้นที่ ตำบลบาละ อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา เมื่อวันก่อน


จากการสำรวจพบต้นกล้วยมีลักษณะเหี่ยวยืนต้นตาย เมื่อตัดดูลำต้นเทียมพบมีลักษณะสีดำ ผลลีบ เมื่อผ่าผลกล้วยดู พบเป็นสีดำ บางผลมีน้ำเยิ้ม โดยพบการระบาดในกล้วยหิน กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมเขียว และกล้วยเล็บมือนาง

จากอาการจึงสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากโรคเหี่ยวกล้วยที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้ทางจังหวัดจะเก็บตัวอย่างกล้วยดังกล่าวส่งวินิจฉัยหาเชื้อสาเหตุในห้องแล็บต่อไป สำหรับเชื้อชนิดนี้จะเติบโตได้ดีในดินที่มีสภาพเป็นด่าง ปัจจุบันยังเป็นปัญหาสำคัญในการป้องกันกำจัด เนื่องจากเชื้อนี้สามารถพัฒนาพันธุ์ให้ต้านทานกับสารเคมีได้เร็ว มีพืชอาศัยหลายชนิด และยังสามารถพักตัวเกาะกินกับพืชนอกฤดูปลูก วัชพืชมากกว่า 67 ตระกูล และไม้ดอกอีกหลายชนิด ที่ผ่านมามักพบเห็นกับพืชเศรษฐกิจและวัชพืชหลายชนิดในเขตร้อน เขตกึ่งร้อน และเขตอบอุ่น เช่น พริก มะเขือ มะเขือเทศ มันฝรั่ง ยาสูบ ขิง พริกไทย ถั่วลิสง ต้นสัก มะกอก หม่อน มันสำปะหลัง งา ปทุมมา หงส์เหิน กระเจียวสีส้ม ต้อยติ่ง หญ้างวงช้าง สาบเสือ สาบแร้งสาบกา ลำโพง กะเม็ง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพักตัวจากพืชนอกฤดูปลูกอีกหลายชนิดเป็นโรคที่มีความสำคัญที่สุดของปทุมมา ลักษณะอาการ ในระยะแรกหลังจากการติดเชื้อ ใบแก่ที่อยู่ล่าง ๆ จะเหี่ยวมากแล้วลู่ลง ต่อมาจะม้วนเป็นหลอดและเหลือง อาการค่อยๆ ลุกลามจากส่วนล่างขึ้นไปยังส่วนปลายยอด ในที่สุดใบจะม้วนเหลืองและแห้งตายทั้งต้น

บริเวณโคนต้นและหน่อที่แตกออกมาใหม่มีลักษณะช้ำน้ำ ซึ่งต่อมาจะเน่าเปื่อยหักหลุดออกมาจากหัวโดยง่าย บริเวณลำต้นมีลักษณะคล้ำหรือสีน้ำตาลเข้ม หัวของต้นที่เป็นโรคในระยะแรกมีลักษณะช้ำฉ่ำน้ำเป็นปื้นๆ โดยเฉพาะหัวอ่อน ต่อมาเนื้อหัวจะมีสีคล้ำขึ้นและเปื่อยยุ่ย อาการเหล่านี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็วในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น เมื่อผ่าหัวที่เป็นโรคระยะแรกพบส่วนท่อน้ำท่ออาหารมีลักษณะคล้ำสีน้ำเงินม่วงจางๆ และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในที่สุด และมีเมือกสีขาวข้นซึมออกมาตามรอยแผล ในการป้องกันกำจัดเกษตรกรจะต้องดำเนินการตั้งแต่เริ่มแรกก่อนปลูก ไปจนถึงภายหลังการเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์ และควรเป็นวิธีผสมผสาน จึงจะสามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้ลุกลามต่อไป โดยก่อนปลูกพืช ควรเลือกพื้นที่ที่ไม่เคยปลูกพืชอาศัยของโรคเหี่ยวมาก่อน เช่น พริก มะเขือเทศ ยาสูบ งา และมันฝรั่ง กำจัดวัชพืชในแปลงก่อนปลูก เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับแปลงที่พบโรคระบาดนี้ ควรไถดินอย่างน้อย 2 ครั้ง ผึ่งให้แห้งก่อนปลูกเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อกำจัดเชื้อสาเหตุที่อาจอาศัยอยู่ในวัชพืชและในดิน กรณีที่ปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และข้าว ควรกำจัดวัชพืชในแปลงให้หมดในระหว่างการปลูกพืชหมุนเวียน

สำหรับในพื้นที่ตำบลบาละ อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา เจ้าหน้าที่แนะนำแก่เกษตรกรว่า เบื้องต้น ให้ฆ่าเชื้ออุปกรณ์ด้วยแอลกอฮอล์ หรือไฮเตอร์ ทุกครั้ง หลังสัมผัสกล้วยที่เป็นโรค ไม่นำหน่อกล้วยที่เป็นโรคไปปลูกในแหล่งอื่น ต้นกล้วยที่เป็นโรคเมื่อตัดแล้วห้ามนำไปทิ้งบริเวณทางน้ำหรือในแหล่งน้ำ เมื่อตัดแล้วให้ใช้ถุงพลาสติกใสคลุมปลีกล้วยในระยะก่อนดอกบาน เป็นต้น

ที่มา: เดลินิวส์

ความคิดเห็น