ปลูกถั่วฝักยาวช่วงแล้ง ให้ได้ผลผลิตดี

ถั่วฝักยาว สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด แต่เติบโตได้อย่างดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด คือในดินร่วนปนทราย ที่มีค่า pH อยู่ที่ระหว่าง 5.5-6 หน่วย



พืชชนิดนี้เป็นผักสวนครัวที่มีระบบรากละเอียดอ่อน จึงต้องมีการเตรียมดินก่อนที่จะลงมือปลูกถั่วจะช่วยให้การเติบโตของลำต้นสมบูรณ์และสม่ำเสมอได้ การเตรียมดินควรไถพรวนหน้าดินมีความลึกประมาณ 6-8 นิ้ว แล้วตากดินทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ เพื่อทำลายเชื้อโรคและไข่ของแมลงต่าง ๆ ที่เป็นศัตรูพืช

เก็บเศษวัชพืชออกจากแปลงให้หมด หลังจากนั้นปรับปรุงโครง สร้างดินให้ดีขึ้น ด้วยการไถคราดหน้าดินและใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ลงไปพร้อมกันในระหว่างไถคราด เสร็จแล้วยกร่องให้สูงพอประมาณโดยให้มีความกว้างประมาณ 1-1.2 เมตร ความยาวตามความเหมาะสมกับแปลงปลูก เตรียมร่องระหว่างแปลงสำหรับเดินเข้าออกประมาณ 1 เมตร สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่เคยปลูกมาก่อนควรนำดินมาวัดค่า pH และวิเคราะห์เพื่อให้ทราบถึงจำนวนแร่ธาตุต่าง ๆ ในดินเพื่อจะได้บำรุงดินให้เหมาะสมในการปลูก

ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ใช้น้ำเพียง 400 ลูกบาศก์เมตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ ทั้งยังเป็นพืชอายุสั้น ปลูกเพียง 2 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตได้ทุกวัน เหมาะสมมากกับการปลูกเชิงเศรษฐกิจที่มีรายได้ทุกวัน หรือจะปลูกในพื้นที่น้อย ๆ สำหรับบริโภคภายในครอบครัวก็สามารถทำได้

เตรียมแปลงปลูก ระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ประมาณ 40-50 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 70-100 เซนติเมตร ไถดินลึก ประมาณ 20 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ 7-10 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ประมาณ 2,000 กิโลกรัมต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่

หลุมปลูกใช้หน้าจอบขุดหลุมลึกประมาณ 5 เซนติเมตร นำเมล็ดถั่วฝักยาวมาหยอด จำนวน 3 เมล็ดต่อหลุม กลบด้วยแกลบหรือปุ๋ยคอก 2-3 กำมือต่อหลุม จากนั้น 7-15 วัน ถอนต้นกล้าที่ไม่สมบูรณ์ออก อายุประมาณ 15-20 วันหลังปลูก หรือมีใบจริง 4-5 ใบ จะเริ่มทอดยอด หรือเลื้อย ช่วงนี้ให้ทำค้าง โดยการปักไม้ค้างซึ่งมีหลายแบบ เช่น ปักแบบตั้งตรงเดี่ยว ๆ ปักแบบกระโจม 4 หลุมต่อ 1 กระโจม ปักแบบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว และปักแบบใช้ไม้ปักตรงกึ่งกลางระหว่างหลุม ใช้เชือกไนลอนขึงระหว่างไม้แต่ละหลุม เพื่อให้ถั่วฝักยาวพันหรือเลื้อยขึ้นไปตามไม้และเส้นเชือกไนลอน ในระยะแรกควรมีการจับยอดถั่วฝักยาวมาพันไม้ค้างด้วย ด้วยการพันแบบทวนเข็มนาฬิกา

การใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงในการปรับปรุงและบำรุงดินเพื่อให้ถั่วฝักยาวนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ปริมาณและชนิดของธาตุอาหารในแต่ละช่วงเวลาของการเจริญเติบโต รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของดิน ควรใช้ เพราะปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูง และมีปริมาณธาตุอาหารหลักแต่ละชนิด เช่น สูตรไนโตรเจนสูง ฟอสฟอรัสสูง จะสามารถช่วยให้ การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้ตรงตามความต้องการของถั่วฝักยาว ช่วงที่มีการเจริญเติบโตได้ดี จะช่วยในเรื่องการประหยัดการใช้ปุ๋ย ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ปุ๋ยที่เน้นในเรื่องธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูง ได้มาจากกระบวนการหมักและสลายตัวสมบูรณ์แบบแล้วจากวัสดุอินทรีย์และอนินทรีย์ที่มีธาตุอาหารสูงผสมกับวัสดุอินทรีย์อื่น ๆ ที่มีในธรรมชาติที่ให้ธาตุอาหารไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูงคือ กากถั่วเหลืองหรือปลาป่น มูลสัตว์ และ พด.2 ที่ขยายเชื้อในกากน้ำตาลแล้ว

ในสภาพดินปลูกที่เป็นดินทราย ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์เมื่อต้นถั่วอายุประมาณ 15 วัน โดยการพรวนดินแล้วโรยปุ๋ยรอบต้น หากหาปุ๋ยอินทรีย์ไม่ได้ ก็ใช้ปุ๋ยคอกใส่รอบต้นให้ห่างจากโคนต้นประมาณ 10 เซนติเมตรก็ช่วยได้

จากนั้นรดน้ำทุกวัน เช้าและเย็น จนต้นถั่วสามารถตั้งตรงได้ หลังจากนั้นจึงค่อยลดปริมาณการให้น้ำลง ประมาณวันละ 1 ครั้ง หรือ 2 วันต่อครั้ง หลังปลูกประมาณ 50-60 วันก็จะสามารถเก็บผลผลิตได้ ซึ่งช่วงระยะนี้ถั่วฝักยาวจะให้ผลผลิตกำลังดี ไม่แก่และอ่อนเกินไปตรงตามความต้องการของตลาด

ที่มา: เดลินิวส์

ความคิดเห็น