สุกรพื้นบ้าน วันนี้ตลาดนิยม


สุกรเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์แบบกีบคู่ ลำตัวอ้วน มีจมูกและปากยื่นยาว มีทั้งที่เป็นหมูเลี้ยงและหมูป่าหาอาหารโดยใช้จมูกสูดดมกลิ่น

        ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้นเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้สุกรมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและสามารถจำแนกสุกรใหม่เป็น
     
      1. สุกรป่าในเอเชีย ยุโรป อเมริกาลักษณะแข็งแรง ว่องไว ทนทาน ดุร้าย หัวใหญ่ จมูกยาว ลูกมีสีน้ำตาลลายเสือโตขึ้นสีน้ำตาลหม่น สีเทาปนแดง ขายาว ไหล่กว้าง เอว-ตะโพกเล็ก ผิวหยาบยุ่ง ไขมันต่ำ เป็นหนุ่มเป็นสาวช้า

      2. สุกรพื้นเมืองเอเชีย เลี้ยงกันมานานแต่ไม่มีการปรับปรุง มีลักษณะเลี้ยงง่าย ไม่ดุร้าย รูปร่างสี่เหลี่ยม หัวสั้น ตัวเล็ก กระดูกเล็ก มีสีดำหรือเทา ผิวหนังเรียบ ไขมันมาก เป็นหนุ่มสาวเร็ว

      3. สุกรที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์แล้วหรือสุกรฟาร์ม ลักษณะหัวเล็ก เนื้อมาก มันน้อย โตเร็ว ลูกดก เลี้ยงลูกเก่ง ทนทาน แข็งแรง สามารถเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อได้ดี

        สำหรับสุกรพันธุ์พื้นเมืองของไทย ลำตัวจะสั้น หัวค่อนข้างใหญ่ ไหล่และตะโพกแคบ หลังแอ่นท้องยาน ขาและข้อขาอ่อน ตัวเล็ก ขนาดโตเต็มที่น้ำหนัก 80 กิโลกรัม ส่วนใหญ่สีดำ บางพันธุ์อาจมีสีพื้นท้องสีขาว เจริญเติบโตช้า 180-350 กรัมต่อวัน อัตราการเปลี่ยนอาหารประมาณ 5-7 มีเนื้อแดงน้อย ไขมันมาก

       ข้อดีของสุกรพื้นเมืองคือ ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศและทนต่อการตรากตรำได้อย่างดี ให้ลูกดก เลี้ยงลูกเก่ง และทนทานต่อการกักขัง สุกรพื้นเมืองมีหลายพันธุ์ ได้แก่ สุกรไทย เช่น พันธุ์ควาย ราดหรือกระโดน พวง และสุกรพื้นเมืองของจีน เช่น พันธุ์ไหหลำ และเหมยซาน

      สุกรพื้นเมืองนับเป็นสัตว์ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงของเกษตรกรเพราะเป็นการลงทุนที่ต่ำ ที่สำคัญในปัจจุบันมีผู้คนนิยมบริโภคเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับไก่พื้นเมือง ด้วยไม่ได้เลี้ยงโดยการใช้สารอาหารที่ไม่ได้ผลิตขึ้นมาจากส่วนผสมของสารเคมี

       การเลี้ยงสามารถใช้คอกหลุมเป็นเพิงหมาแหงนสร้างด้วยวัสดุอย่างง่าย สำหรับสุกรขุนกรณีเลี้ยงแบบหมูหลุม 1-2 ตัว จะใช้พื้นที่ขนาดกว้าง 1.5 เมตร. × ยาว 2.0 เมตร และหลุมลึกประมาณ 0.9 เมตร หากเลี้ยงสุกรขุน 3 ตัวจะใช้พื้นที่ กว้าง 2.0 เมตร × ยาว 2.5 เมตร × ลึก 0.9 เมตร พื้นหลุมใส่แกลบดิบผสมขี้เลื่อยและมูลโค คอกแม่พันธุ์หรือพ่อพันธุ์ 1 ตัวใช้พื้นที่ประมาณ 2.0 เมตร × ยาว 2.5 เมตร พื้นคอกเป็นดิน แต่ละรายมีสุกรหนึ่งหรือสองแม่ และสุกรขุน 3 ตัว พ่อพันธุ์ใช้ร่วมกัน ไม่ผสมเลือดชิด

       ให้อาหารด้วยการผลิตเองโดยผสมอาหารสุกรด้วยรำ กระถินแห้ง มันเส้น และไส้ปลาหมัก ซึ่งในสุกรขุนที่น้ำหนัก 7.9-26.1 กิโลกรัม ใช้โปรตีนร้อยละ 10-12 และในแม่พันธุ์ใช้โปรตีนร้อยละ 9-10 เสริมด้วยพืชอาหารสัตว์ ให้วัคซีนอหิวาต์สุกร มีการถ่ายพยาธิ ตอนสุกรตัวผู้ หย่านมลูกสุกรเมื่ออายุ 2 เดือน

       ส่วนช่วงขุนใช้อาหารที่ผลิตเองเช่นกันโดยนำผลไม้หรือพืชผักสีเขียวที่เหลือใช้จากครัวเรือนหรือการเกษตร เช่น หยวกกล้วย บอน ปอสา พืชสีเขียวหรือเศษผักต่าง ๆ นำมาสับให้ละเอียด ผสมด้วยน้ำตาลทรายแดงและเกลือเม็ด (เกลือทะเล) โรยคลุกเคล้าให้เข้ากัน เอาไปบรรจุลงในถังหมักโดยให้มีพื้นที่ว่างเหลือ 1 ใน 3 ส่วนของถัง ปิดด้วยกระดาษที่อากาศผ่านเข้าออกได้หมักไว้ 7 วัน ถ้าอากาศร้อน 5 วัน ก็นำไปให้สุกรกินได้

      และหากต้องการลดกลิ่นจากมูลสุกรที่เลี้ยงให้นำพืชหมักมาผสมกับรำข้าวอ่อนและปลายข้าวในอัตราส่วน พืชหมัก : รำอ่อน : ปลายข้าว : เท่ากับ 2 : 2 : 1 ให้สุกรกินวันละ 2 มื้อ เช้า เย็น ส่วนน้ำที่ได้จากการหมักก็นำมารดคอกหมู จะทำให้สามารถลดกลิ่นมูลหมูลงได้มากทีเดียว

ขอบคุณแหล่งที่มา: เดลินิวส์

ความคิดเห็น