เกษตรกรเตรียมตัวเลิกจน! รัฐฯตั้งงบแก้จน-ปฏิรูปภาคเกษตร 1.5แสนล้านบาท

ตั้งงบกลางปี 1.5 แสนล้าน “สมคิด” อัดฉีดเงินแก้จน-ปฏิรูปภาคเกษตร


คลังสรุปกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท รายรับ 2.55 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ด้าน “อภิศักดิ์” จัดงบกลางปี 2561 เพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาความยากจนและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เลื่อนทำงบประมาณสมดุลไปอีก 10 ปี
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า วานนี้ (10 ม.ค.) ได้มีการประชุมร่วม 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม โดยมติที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท เป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุล 450,000 ล้านบาท ระดับเดียวกับงบประมาณปี 2561 ขณะที่รัฐบาลจะมีรายรับอยู่ที่ 2.55 ล้านล้านบาท
สำหรับสาเหตุที่รัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพราะต้องการใช้งบประมาณเพื่อการช่วยในการปฏิรูปประเทศ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และสร้างความเข้มแข็งในเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยที่ประชุมฯคาดว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณ 4.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยสำนักงบประมาณจะนำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายปี 2562 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 16 ม.ค.นี้ และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้นเดือน มิ.ย.นี้
สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย ดังกล่าวแบ่งเป็นงบรายจ่ายประจำ 75% งบลงทุนประมาณ 21% ส่วนที่เหลืออีก 4% เป็นงบชำระหนี้คืนเงินกู้และดอกเบี้ย ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำนั้น งบบุคลากรเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6% จากปีงบประมาณก่อนหน้า แบ่งเป็นงบบำเหน็จบำนาญ ค่ารักษาพยาบาลและเงินเดือน เป็นต้น
“วงเงินงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวได้กำหนดวงเงินไว้เพื่อการปฏิรูปประเทศประมาณ 1 ล้านล้านบาทจะให้น้ำหนักปฏิรูปด้านประกันสังคม สาธารณสุข บริหารจัดการน้ำและการคมนาคม โดยในส่วนของงบที่จัดสรรด้านประกันสังคมนั้น จะมีการเพิ่มรายจ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น แต่ต้องดูว่า จะเพิ่มขึ้นอย่างไร ทั้งเงินผู้สูงอายุ ประกันสุขภาพและรักษาพยาบาล”
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเสนอ ครม.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี 2561 ในช่วงต้นเดือน ก.พ. เพื่อเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือน มี.ค.นี้ สำหรับการจัดสรรงบกลางปีดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูปประเทศ โดยเน้นไปที่เศรษฐกิจระดับฐานราก ซึ่งในจำนวนนี้ ประมาณ 100,000 ล้านบาท จะใช้ใน 4 เรื่องคือ 1.งบประมาณในโครงการช่วยคนจนเฟส 2 วงเงิน 35,000 ล้านบาท 2.โครงการปฏิรูปราคาสินค้าเกษตร 40,000 ล้านบาท เช่น การแก้ไขราคายางตกต่ำ เป็นต้น 3.งบประมาณในโครงการพัฒนาตำบลวงเงิน 10,000 ล้านบาทและ 4.นำไปใช้เพิ่มความเข้มแข็งกองทุนหมู่บ้าน 10,000-15,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 50,000 ล้านบาท จะนำไปใช้เพื่อชดใช้เงินคงคลัง
“รัฐบาลจะเปิดวงเงินไว้สำหรับการปฏิรูปภาคการเกษตรทั้งระบบ เช่น กรณีการแก้ไขปัญหาราคายางพารา ที่มีนโยบายให้ลดพื้นที่การปลูก ก็อยากเห็นการลดพื้นที่ปลูกในภาพใหญ่อย่างน้อย 10-20% เพื่อดันราคายางได้จริงๆ โดยกระทรวงเกษตรฯ จะต้องทำแผนมาให้ ส่วนการใช้เงินเพื่อพัฒนาตำบลนั้น กระทรวงมหาดไทยก็ต้องทำแผนมาให้กระทรวงการคลัง ซึ่งกรณีงบตำบลนี้ กระทรวงมหาดไทยบอกว่า ยังต้องพัฒนาต่อเนื่อง จึงเห็นตรงกันว่า ถ้าทำไปแล้วต้องได้ผล เพราะที่ผ่านมา งบจังหวัดไม่ค่อยสำเร็จ ส่วนการเพิ่มงบกลางปี 150,000 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องเร่งปฏิรูปเพื่อยกระดับประเทศ จึงจำเป็นต้องขยายการใช้นโยบายการคลังออกไปอีก ขณะที่เป้าหมายการจัดทำงบประมาณสมดุลนั้น ก็ยังคงมีอยู่แต่ต้องใช้ระยะอีก 10 กว่าปี”
นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จะของบกลางปีจากรัฐบาล 40,000 ล้านบาท จะใช้ผ่าน 5 โครงการคือ

  1.  ชดเชยเงินสำหรับชาวสวนยางที่สมัครใจโค่นยางเพื่อเปลี่ยนอาชีพอีก 10,000 บาทต่อไร่ จากเดิมการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จ่าย 20,000 บาทต่อไร่ ซึ่งจะทำให้ชาวสวนยางจะได้รับเงินรวม 30,000 บาท ต่อไร่
  2. จัดทำข้อมูลพื้นฐานเกษตรกร หรือบิ๊กดาต้า เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาภาคเกษตรในอนาคต 
  3. จัดทำถังบรรจุผลผลิต (ไซโล) เพื่อชะลอผลผลิตการเกษตรและพักสินค้าไว้รอขายในช่วงผลผลิตตกต่ำ
  4. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก และ
  5. สร้างอาชีพในฤดูแล้ง.

ขอบคุณที่มา: ไทยรัฐ

ความคิดเห็น