เมื่อเพลี้ยหอย บุกแปลงมันสำปะหลัง

นายสถิตย์ ภูทิพย์ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ได้มอบหมายให้กลุ่มอารักขาพืช โดยนายจิรประวัติณ์ ไทยประสิทธิ์ นายเสนาะ ยิ้มสบาย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการและนายวรชิต พิเคราะห์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนัก งานเกษตรอำเภอขาณุวรลักษบุรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยหอยในไร่มันสำปะหลัง ตำบลบ่อถ้ำ และตำบลวังชะพูล อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันก่อน



ซึ่งจากการติดตามพบว่ามีการระบาดของเพลี้ยหอยในไร่มันสำปะหลังที่มีอายุ 8-12 เดือน จึงแนะนำให้เกษตรกรเร่งทำการเก็บเกี่ยว และตัดต้นไปทำลายเผาทิ้ง ทำ ความสะอาดแปลง ด้วยการไถดินตากแดดเป็น เวลานาน ๆ ทำการปลูกพืชแบบหมุนเวียน ในฤดูกาลต่อไปหากจะปลูกมันสำปะหลังอีกให้คัดเลือกท่อนพันธุ์ที่สมบูรณ์ปราศจากโรคแมลงมาปลูก

สำหรับเพลี้ยหอย บางพื้นที่เกษตรกรอาจเรียกว่าเพลี้ยเกล็ด เป็นแมลงชนิดปากดูดน้ำเลี้ยงพืช อยู่เป็นกลุ่ม โดยเกาะแน่นตามใบ ซอกกาบใบ ลำต้น หรือแม้กระทั่งราก ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ทรุดโทรม ใบมีสีเหลืองและถ้ามีการทำลายมาก ๆ พืชอาจเหี่ยวจนถึงตายได้

การระบาดทำลายแปลงพืชมักมีเป็นครั้งคราว และไม่รุนแรง ตลอดจนไม่ค่อยพบเป็นปัญหา มีอยู่ 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ 1. ชนิดมีเกราะหุ้ม และ 2. ชนิดไม่มีเกราะหุ้มแต่จะมีผนังลำตัวหุ้มตัวเองเป็นเกราะ ในตัวเต็มวัยตัวผู้จะไม่กินอาหาร แต่ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยที่เป็นตัวเมียจะทำลายพืชโดยการดูดน้ำเลี้ยง และจะปล่อยน้ำหวานเหนียวออกมา ซึ่งจะดึงดูดให้มดเข้ามาดูดกินน้ำหวาน และทำให้เชื้อราดำเข้าทำลาย ซึ่งเชื้อราดำนี้จะคลุมอยู่เพียงผิวนอก ไม่ทะลุเข้าไปภายในเนื้อเยื่อพืช ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ถ้าการทำลายมีมาก โดยเฉพาะที่จุดเจริญจะทำให้พืชตายได้เพลี้ยหอยเพิ่มจำนวนได้เร็วมาก และเมื่อพืชแสดงอาการแล้วก็มักพบว่า มีเพลี้ยหอยเป็นจำนวนมากโดยจะปกคลุมทั้งกิ่ง ก้าน ลำต้น ตลอดจนใต้ใบ บนใบ

ตัวเมียจะวางไข่ตั้งแต่ไม่กี่ฟองถึงหลายร้อยฟองแล้วแต่ชนิด ไข่อาจจะวางใต้เกราะนั่นเอง หรือวางภายนอกไข่เป็นกลุ่มอยู่ใต้ไข่สีขาว ตัวเมียวางไข่ได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ ดังนั้น ตัวผู้จึงมีน้อยหรือในบางชนิดยังไม่พบตัวผู้ ตัวผู้มีอายุสั้นจะตายภายหลังการผสมพันธุ์

ตัวอ่อนอาจฟักออกจากไข่ซึ่งอยู่ในท้องของตัวเมีย เมื่อตัวอ่อนเดินไปยังแหล่งอาหารแล้วก็จะเกาะติดและดูดน้ำเลี้ยงพืช ชนิดที่มีเกราะหุ้มจะไม่มีขาและหนวดส่วนพวกที่ไม่มีเกราะตัวเมียเดินได้แต่ช้า ในฤดูร้อนจะขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ส่วนในฤดูฝนไม่พบการระบาด จะมีศัตรูธรรมชาติมากรวมทั้งตัวห้ำ ตัวเบียน เชื้อราหลายชนิด ทำให้ประชากรของเพลี้ยหอยถูกควบคุมไว้ได้หากเกษตรกรนำมาใช้ การป้องกันเบื้องต้นก่อนนำต้นพันธุ์พืชจากที่อื่นเข้ามาปลูกในแปลง ควรตรวจดูไม่ให้มีเพลี้ยติดมาด้วย หลังปลูก

ต้องหมั่นตรวจดูแปลงปลูก หากพบการระบาดในจำนวนมากก็ควรตัดกิ่งนั้นหรือต้นนั้นมาเผาทิ้ง หากพบมีการระบาดทำลายไม่มากนัก ให้ทำการรูดเพลี้ยหอยออกจากพืชแล้วทำลายเสีย จะพอช่วยได้

ที่มา: เดลินิวส์

ความคิดเห็น